Time
เวลาทำการ จันทร์ - เสาร์ 09.00 - 18.00 น.
Warranty
ของแท้ประกันศูนย์
Delivery
1,000 บาทขึ้นไปส่งฟรี
Facebook
@Headdaddy
Line
@Headdaddy
ข่าวไอที
สุดยอด 7 วิธีแก้รถติดโดยไม่ต้องเพิ่มถนน
 
ข่าวประจำวันที่   2014-12-03 15:24:08
จำนวนที่เปิดอ่าน   7970 ครั้ง

กว่าครึ่งของประชากรในโลกนี้พำนักอยู่ในเขตเมือง ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์นานับประการจากการอยู่อาศัย การทำงานและการปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างกันของคนเป็นล้าน แต่การจราจรที่ติดขัดไม่ใช่หนึ่งในผลประโยชน์ที่ว่าแน่นอน

ปัญหาการจราจรติดขัดนอกจากจะสร้างความรำคาญและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแล้ว ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เวิร์ดแมปเปอร์ได้รายงานว่าประเทศไทยนั้นใช้เวลาการเดินทางที่สูงที่สุดในโลก โดยคนทั้งประเทศใช้เวลาถึง 37 ล้านชั่วโมงในการเดินทางไปทำงานทุกวัน เฉลี่ยแล้วคนทำงานที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงบนท้องถนนในการเดินทางไปกลับระหว่างที่ทำงาน ในขณะที่เวลาเฉลี่ยทั่วโลกนั้นอยู่ที่ 40 นาทีต่อเที่ยวเท่านั้น กรมการขนส่งทางบกรายการว่าประเทศไทยมีรถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจาก 566,643 คันในปี พ.ศ. 2554 ไปเป็น 949,148 คันในปีพ.ศ. 2555 เพิ่มขึ้นถึง 67.5% ภายในสองปีเท่านั้น

 สุดยอด 7 วิธีแก้รถติดโดยไม่ต้องเพิ่มถนน

โดยในช่วงกลางศตวรรษ สัดส่วนของประชากรที่อาศัยอยู่ตัวเมืองทั่วโลกได้เพิ่มปริมาณขึ้นเป็น 75% ทำให้เกิดความแออัดบนถนน และการเพิ่มช่องทางการจราจรก็มีความเป็นไปได้ยาก

แต่โชคดีที่ตัวเมืองก็มีทางเลือกอื่นในการจัดการกับปัญหารถติดได้ พวกเขายังสามารถอาศัยเครื่องมือช่วยอย่างซอฟต์แวร์ที่มีความซับซ้อนในการจำลองผลกระทบทั้งหลายก่อนที่จะมีการสร้างจริง ทำให้นักวางแผนสามารถทดลองสถานการณ์ต่างๆ และเลือกผสมผสานการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดของปัญหาการจราจรติดขัดได้

การพัฒนาด้านการขนส่ง สำหรับเมืองใหญ่ๆ ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างกรุงเทพฯ สมุทรปราการ, นครราชสีมา และเชียงใหม่ การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลถือเป็นทางเลือกหลักในการเดินทางจากบ้านไปสู่ที่ทำงานและกลับบ้าน ไม่นานนักถนนก็เริ่มแออัดเพราะทุกคนต่างขับรถไปทำงาน การสร้างที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นสูง เช่นคอนโดไว้ใกล้กับระบบคมนาคมที่มีอยู่ของเมืองจะช่วยกระตุ้นให้คนหันมาใช้การขนส่งมวลชน ซึ่งช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในช่วงเวลาเร่งด่วนได้ ยกตัวอย่างเช่น ที่พอร์ตแลนด์ โอเรกอนและวอชิงตัน ดีซีได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนารถไฟฟ้ารางเบาที่มีอยู่

Urban Transport small สุดยอด 7 วิธีแก้รถติดโดยไม่ต้องเพิ่มถนน

รถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ BRT โดยทั่วไปจะเป็นการเสียเลนบนถนนหนึ่งเลนให้สำหรับรถบัสวิ่ง เพื่อที่รถจะได้พาคนกลุ่มใหญ่เดินทางไปได้เร็วขึ้น ในบ้านเราเองก็ได้มีการนำ BRT มาใช้ในพื้นที่ที่มีความแออัดที่ย่านสาทรไปยังราชพฤกษ์ โดยมีทั้งหมด 12 สถานี ระยะทาง 15.9 กิโลเมตร และมีผู้ใช้งานประมาณ 16,000 คนต่อวัน[i] แต่การเลือกทำระบบขนส่งใดๆ ก็ตามต้องมีได้อย่างเสียอย่างอยู่เสมอ หากสร้าง BRT ก็ต้องเสียเลนสำหรับรถยนต์ไปหนึ่งเลน แต่ซอฟต์แวร์ที่จำลองโมเดลก็สามารถช่วยในการจัดการเครือข่ายระบบขนส่งทั้งหมดและแสดงให้เห็นว่าจะระบบ BRT จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากน้อยแค่ไหนและจะลดเวลาในการเดินทางมากเท่าไรในแต่ละวัน

สัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ ไม่มีใครชอบนั่งรอรถติดไฟแดง โดยเฉพาะตอนที่ถนนอีกฝั่งกลับไฟเขียวทั้งๆ ที่ไม่มีรถวิ่งเลย การนำเอาสัญญาณไฟจราจรนี้มาปรับใช้นั้นไม่ใช่เพื่อรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่รวมไปถึงการใช้กับ BRT โดยจะเปิดไฟเขียวให้ เมื่อรถเดินทางช้ากว่ากำหนดเพื่อให้รถสามารถไปได้ตรงเวลาตามตาราง ซึ่งส่งผลให้การบริการของ BRT มีความน่าเชื่อถือและช่วยกระตุ้นให้คนมาใช้งานเยอะขึ้นอีกด้วย

การจัดการความคล่องตัวของจราจร คำนี้อาจฟังดูแปลก แต่เมื่อการจราจรเริ่มวุ่นวาย คุณสามารถช่วยบรรเทาได้หากคุณทำให้ทุกคนช้าลงอีกนิด การใช้ทางเบี่ยงบนไฮเวย์หรือบนถนน จะช่วยควบคุมความเร็วและป้องกันการหยุดรถเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัด หลายประเทศได้มีการนำระบบการจัดการจราจรแบบแอคทีฟมาใช้งาน รวมไปถึงเยอรมนี สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถเพิ่มสมรรถนะให้กับถนนที่มีอยู่เดิมได้

การเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่ขับเข้าไปในเขตเมืองชั้นใน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในลอนดอนและสิงคโปร์ การเก็บค่าธรรมเนียมเช่นนี้จะช่วยให้เมืองสามารถจุรถได้มากขึ้นด้วยถนนที่มีอยู่ การเก็บเงินผู้ที่ขับรถเข้ามาในเมืองชั้นในจะสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น ทำให้ถนนสามารถจุคนต่อชั่วโมงได้มากกว่าปกติ แน่นอนว่าผู้คนทั่วไปยังสามารถขับรถเข้าไปได้หากประสงค์จะจ่ายเพื่อสิทธิพิเศษ และรายรับที่ได้จากกลุ่มคนพวกนี้มักจะไปอยู่ที่การซ่อมแซมและพัฒนาถนน ในประเทศไทยเองก็เคยมีการเสนอแนวคิดนี้ให้กับรัฐบาล แต่โครงการยังคงอยู่ในช่วงการศึกษาและพัฒนา

ระบบรถจักรยานเช่าสาธารณะ จักรยานนั้นใช้พื้นที่น้อยกว่ารถยนต์ เท่ากับว่าถนนสามารถจุจักรยานได้จำนวนมากกว่ารถยนต์ ที่บ้านเราเองก็มีการรณรงค์ให้ใช้จักรยานในกรุงเทพฯ เพื่อลดมลพิษและปัญหารถติด ซึ่งสำนักการจราจรและขนส่งได้วางแผนจะเพิ่มเลนจักรยานรอบเมืองขึ้นอีกประมาณ 240 เส้นทาง[ii] โดยการที่นักปั่นจักรยานมีเพิ่มขึ้นหมายความว่าต้องเสียเลนรถยนต์ไปเพื่อเพิ่มเลนจักรยาน ซึ่งมีขนาดกว้างประมาณครึ่งหนึ่งของเลนรถยนต์ ระบบรถจักรยานเช่าสาธารณะจะเป็นการส่งเสริมให้คนทั่วไปหันมาใช้จักรยานมากขึ้น ในเดือนเมษายน ปีพ.ศ.2556 ได้มีโครงการระบบรถจักรยานเช่าสาธารณะในเมืองประมาณ 535 แห่งทั่วโลก โดยมีจักรยานประมาณ 517,000 คัน และผลประโยชน์จากการใช้จักรยานนั้นคือดีต่อสุขภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะไม่ต้องมีการเผาผลาญเชื้อเพลิง

รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ ใครจะเชื่อว่ารถที่ไม่มีคนขับจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหารถติดได้ นั่นคือการใช้ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (cruise control) ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นทั่วไปของรถที่ช่วยควบคุมความเร็วได้ การนำระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่รถหลายๆ คันในปัจจุบันมีมาใช้โดยการตั้งค่าความเร็วเพื่อรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าอัตโนมัติ ซึ่งหากในอนาคตเราใช้เทคโนโลยีนี้มาช่วยกำหนดให้รถขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าประมาณ 6 ฟุตด้วยความเร็วคงที่ 60 ไมล์ต่อชั่วโมง ก็จะทำให้รถสามารถใช้งานบนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

 สุดยอด 7 วิธีแก้รถติดโดยไม่ต้องเพิ่มถนน

ข้อสรุป

เมื่อมีผู้คนหลั่งไหลเข้าไปในเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ทางเมืองเองก็ต้องหาหนทางใหม่ๆ ในการแก้ไขกับปัญหาการจราจรติดขัด ด้วยการหาทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นไปได้มากกว่าการสร้างถนนเพิ่ม หลายๆ เมืองสามารถจัดการกับการจราจรที่เลวร้ายได้สำเร็จและช่วยทำให้พื้นที่ในเมืองเป็นสถานที่อันน่าอยู่ขึ้นในศตวรรษที่ผ่านมาได้

ที่มา   :   it24hrs.com
 
ติดตามข่าว Headdaddy IT News บน Facebook คลิกที่นี่!!